วันพุธที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2555

นิยามคำว่าสุขภาพและสุขบัญญัติ 10 ประการ

สุขภาพ




  สุขภาพ มีความหมาย 3 ประการ คือ 1. ความปลอดภัย (Safe)
                                                            2. ความไม่มีโรค (Sound)
                                                            3. ความปลอดภัย และไม่มีโรค (Whole)
            องค์กรอนามัยโลกได้ให้คำนิยามคำว่า สุขภาพ ในความหมายกว้างขึ้นว่า สุขภาพ หมายถึง สุขภาวะที่สมบูรณ์ทั้งทางกาย ทางจิต และทางสังคม            ตามร่างพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ 2545 ให้ความหมายของคำว่า สุขภาพ คือ ภาวะที่มีความพร้อมสมบูรณ์ทั้งทางร่างกาย คือ ร่างกายที่สมบูรณ์แข็งแรง คล่องแคล่ว มีกำลัง ไม่เป็นโรค ไม่พิการ ไม่มีอุบัติเหตุอันตราย มีสิ่งแวดล้อมที่ส่งเสริมสุขภาพ

            ดังนั้น "สุขภาพ" จึงหมายถึง "การมีร่างกายแข็งแรงปราศจากโรคภัยไข้เจ็บในทุกส่วนของร่างกาย มีสุขภาพจิตดี และสามารถปรับตัวให้อยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมได้อย่างปกติสุข ผู้มีสุขภาพดีถือว่าเป็นกำไรของชีวิต เพราะทำให้ผู้เป็นเจ้าของชีวิตดำรงชีวิตอยู่อย่างเป็นสุขได้" นั่นเอง จะเห็นได้ว่า สุขภาพนั้น ไม่ได้มีเพียงทางกาย และทางจิตใจเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการปรับตัวเข้าสู่สังคมได้อย่างมีความสุขด้วย เมื่อรู้อย่างนี้แล้ว เราก็ควรจะรักษาสุขภาพของเราให้ดีอยู่เสมอ เพื่อที่เราจะได้มีจิตใจที่มีความสุข รื่นเริง ไม่ติดขัด มีเมตตา มีสติ มีสมาธิ และการที่ครอบครัวจะมีความอบอุ่น ชุมชนเข้มแข็ง และสังคมมีความยุติธรรมได้นั้น จะต้องเกิดขึ้นจากการจัดการทางสุขภาพในระดับต่างๆทั้งสุขภาพในระดับของปัจเจกบุคคล (Individual Health) สุขภาพของครอบครัว (Family Health) อนามัยชุมชน (Community Health) และสุขภาพของสาธารณะ (Public Health) นั่นเอง          
           สุขภาพ เป็นการเรียกการกล่าวถึงลักษณะของการไม่เป็นโรค สุขภาพเป็นความสมบูรณ์ของคนใน 4 มิติ คือ ร่างกาย จิตใจ สังคม และวิญญาณ(ปัญญา)หากสมบูรณ์อย่างสมดุลแล้ว ก็จะเข้าสู่ที่เรียกว่าสุขภาวะ
        สำหรับองค์การอนามัยโลก (WHO : World Health Organization) ได้ให้ความหมายของ สุขภาพไว้ในธรรมนูญขององค์การอนามัยโลกเมื่อปี ค.ศ.1948 ไว้ดังนี้ สุขภาพหมายถึง สภาวะแห่งความสมบูรณ์ของร่างกายและจิตใจ รวมถึงการดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างเป็นปกติสุข และมิได้หมายความเฉพาะเพียงแต่การปราศจากโรคและทุพพลภาพเท่านั้นต่อมาในที่ประชุมสมัชชาองค์การอนามัยโลก เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2541 ได้มีมติให้เพิ่มคำว่า “Spiritual well-being” หรือสุขภาวะทางจิตวิญญาณเข้าไป ในคำจำกัดความของสุขภาพเพิ่มเติม
        ในอดีตคำว่า สุขภาพ หมายถึง สุขภาพกายเป็นหลัก ต่อมาจึงได้กล่าวถึงสุขภาพจิตร่วมไปด้วย เพราะเห็นว่าคนที่มีสุขภาพกายสมบูรณ์แข็งแรง แต่สุขภาพจิตเสื่อมโทรมหรือเป็นโรคจิตก็ไม่สามารถดำเนินชีวิตเป็นปกติสุขได้ ซ้ำร้ายอาจจะทำร้ายผู้อื่นได้อีกด้วย
        ปัจจุบัน คำว่า สุขภาพ มิได้หมายเฉพาะสุขภาพกายและสุขภาพจิตเท่านั้น แต่ยังหมายรวมถึงสุขภาพสังคม และสุขภาพศีลธรรมอีกด้วย
        สรุปว่าในความหมายของ "สุขภาพ" ในปัจจุบันมีองค์ประกอบ 4 ส่วน ด้วยกันคือ
        1. สุขภาพกาย หมายถึง สภาพที่ดีของร่างกาย กล่าวคือ อวัยวะต่างๆอยู่ในสภาพที่ดีมีความแข็งแรงสมบูรณ์ ทำงานได้ตามปกติ และมีความสัมพันธ์กับทุกส่วนเป็นอย่างดี และก่อให้เกิดประสิทธิภาพที่ดีในการทำงาน
        2. สุขภาพจิต หมายถึง สภาพของจิตใจที่สามารถควบคุมอารมณ์ได้ มีจิตใจเบิกบานแจ่มใส มิให้เกิดความคับข้องใจหรือขัดแย้งในจิตใจ สามารถปรับตัวเข้ากับสังคมและสิ่งแวดล้อมได้อย่างมีความสุข
        3. สุขภาพสังคม หมายถึง สภาวะที่ดีของปัญญาที่มีความรู้ทั่ว รู้เท่าทันและความเข้าใจอย่างแยกได้ในเหตุผลแห่งความดีความชั่ว ความมีประโยชน์และความมีโทษ ซึ่งนำไปสู่ความมีจิตอันดีงามและเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่
        4. สุขภาพศีลธรรมหมายถึง บุคคลที่มีสภาวะทางกายและจิตใจที่สุขสมบูรณ์ สามารถปฏิสัมพันธ์และปรับตัวให้อยู่ในสังคมได้เป็นอย่างดีและมีความสุข
        องค์ความรู้ด้านสุขภาพกายและสุขภาพจิตมีสั่งสมไว้มากพอสมควร และเรามีระบบบริการสุขภาพที่ทำงานได้ผลดีทีเดียว แต่เราขาดการศึกษาสุขภาพสังคมและสุขภาพศีลธรรมอย่างเป็นระบบและเชื่อมโยงหากทำได้เราจะจัดการกับสุขภาพสังคมและสุขภาพศีลธรรมได้ดีกว่านี้
        ที่จริงทางตะวันออกและโดยเฉพาะในบริบทของวัฒนธรรมไทย ก็มีเนื้อหาความรู้และข้อปฏิบัติไว้มากมาย เพียงแต่ "นักวิชาการสุขภาพ" ยังมิได้จัดเป็นระบบและเชื่อมโดยจริงจัง
        ตัวอย่างเช่น ในเรื่องสุขภาพสังคม หากเรานำเอาวิถีชีวิต มารยาท ขนบธรรมเนียมประเพณี และวัฒนธรรมไทย มาพูดจากันอย่างจริงจัง และนำเข้าไปอยู่ในระบบอบรมเลี้ยงดู และระบบการศึกษา รวมทั้งระบบบริการสุขภาพด้วยก็จะเกิดประโยชน์ หรือในเรื่องสุขภาพศีลธรรม เราก็มีศาสนธรรมพร้อมสรรพ ไม่ว่าจะเป็นศาสนาพุทธคริสต์ อิสลาม ฮินดู-พราหมณ์ หรือสิกข์ หรือปรัชญาขงจื้อที่คนไทยเชื้อสายจีนยึดถือเป็นแนวทางชีวิตล้วนแต่มีคุณค่ามหาศาลที่เราควรนำไปสั่งสอนลูกหลานหรือลูกศิษย์และเป็นองค์ประกอบสำคัญของการศึกษาและการสาธารณสุขของประเทศ

สุขบัญญัติ 10 ประการ

    สุขบัญญัติ หมายถึง ข้อกำหนดที่เด็กและเยาวชน ตลอดจนประชาชนทั่วไปพึงปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอจนเป็นสุขนิสัย เพื่อให้มีสุขภาพดีทั้งร่างกาย จิตใจ และสังคม ดังนั้น การส่งเสริมสุขบัญญัติจึงเป็นกลวิธีหนึ่งในการสร้าง  เสริมและปลูกฝังพฤติกรรมสุขภาพที่พึงประสงค์ เพื่อให้เด็ก เยาวชน และประชาชนปฏิบัติเพื่อนำไปสู่การมีสุขภาพที่ดีได้   
๑. ดูแลรักษาร่างกายและของใช้ให้สะอาด
  - อาบน้ำให้สะอาดทุกวัน อย่างน้อยวันละ ๑ ครั้ง
  - สระผมอย่างน้อยสัปดาห์ละ ๒ ครั้ง
  - ตัดเล็บมือเล็บเท้าให้สั้นอยู่เสมอ
  - ถ่ายอุจจาระให้เป็นเวลาทุกวัน
  - ใส่เสื้อผ้าที่สะอาด ไม่อับชื้น และให้อบอุ่นเพียงพอ
  - จัดเก็บของใช้ให้เป็นระเบียบ
 ๒. รักษาฟันให้แข็งแรง และแปรงฟันทุกวันอย่างถูกวิธี
  - แปรงฟันทุกวันอย่างถูกวิธี อย่างน้อยวันละ ๒ ครั้ง เวลาเช้า และก่อนนอน
  - เลือกใช้ยาสีฟันและฟลูออไรด์
  - หลีกเลี่ยงการกินลูกอม ลูกกวาด ท็อฟฟี่ หรือขนมหวานเหนียว
  - ตรวจสุขภาพในช่องปาก อย่างน้อยปีละ ๑ ครั้ง
  - ห้ามใช้ฟันกัดขบของแข็ง
๓. ล้างมือให้สะอาดก่อนรับประทานอาหารและหลังการขับถ่าย
  - ล้างมือด้วยสบู่ทุกครั้งก่อนและหลังการเตรียม ปรุง และรับประทานอาหาร
  -
ล้างมือด้วยสบู่ทุกครั้งหลังการขับถ่าย
๔. กินอาหารสุก สะอาด ปราศจากสารอันตราย และหลีกเลี่ยงอาหารรสจัด สีฉูดฉาด
  - เลือกซื้ออาหารสด สะอาด ปลอดสารพิษ โดยคำนึงถึงหลัก ๓ ป คือ ประโยชน์ ปลอดภัย ประหยัด
  - ปรุงอาหารที่ถูกสุขลักษณะ และใช้เครื่องปรุงรสที่ถูกต้อง โดยคำนึงถึงหลัก ๓ ส คือ สงวนคุณค่า สุกเสมอ สะอาดปลอดภัย
  - กินอาหารให้ครบ ๕ หมู่ เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย และกินให้ถูกหลักโภชนาการทุกวัน
  - กินอาหารปรุงสุกใหม่ และใช้ช้อนกลางในการกินอาหารร่วมกัน
  - หลีกเลี่ยงการกินอาหารสุกๆ ดิบๆ หรืออาหารรสจัด ของหมักดอง หรือ อาหารใส่สีฉูดฉาด
  -
ดื่มน้ำสะอาด อย่างน้อยวันละ ๘ แก้ว
๕. งดสูบบุหรี่ สุรา สารเสพย์ติด การพนัน และการสำส่อนทางเพศ
  - งดสูบบุหรี่
  - งดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ทุกชนิด
  - ไม่เสพสารเสพย์ติดทุกประเภท
  - งดเล่นการพนันทุกชนิด
  -
งดการสำส่อนทางเพศ
๖. สร้างความสัมพันธ์ในครอบครัวให้อบอุ่น
  - ทุกคนในครอบครัว ช่วยกันทำงานบ้าน
  - ปรึกษาหารือ และแสดงความคิดเห็นร่วมกัน
  - เผื่อแผ่น้ำใจให้กันและกัน
  - ทำบุญ และได้ทำกิจกรรมสนุกสนานร่วมกัน
๗. ป้องกันอุบัติภัยด้วยการไม่ประมาท
  - ระมัดระวังในการป้องกันอุบัติภัยภายในบ้าน เช่น ไฟฟ้า เตาแก๊ส ของมีคม จุดธูปเทียนบูชาพระ และไม้ขีดไฟ เป็นต้น
  -
ระมัดระวังในการป้องกันอุบัติภัยในที่สาธารณะ เช่น ปฏิบัติตามกฏแห่งความปลอดภัยจากการจราจรทางบก ทางน้ำ ป้องกันอันตรายจากโรงฝึกงาน ห้องปฏิบัติการ เขตก่อสร้าง หลีกเลี่ยงการชุมนุมห้อมล้อม ในขณะเกิดอุบัติภัย
๘. ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และตรวจสุขภาพประจำปี
  - ออกกำลังกายอย่างน้อยสัปดาห์ละ ๓ ครั้ง
  - ออกกำลังกายและเล่นกีฬาให้เหมาะสมกับสภาพร่างกายและวัย
  -
ตรวจสุขภาพประจำปี
๙. ทำจิตใจให้ร่าเริงแจ่มใสอยู่เสมอ
  - พักผ่อนและนอนหลับให้เพียงพอ
  - จัดสิ่งแวดล้อมทั้งในบ้าน และที่ทำงานให้น่าอยู่ หรือน่าทำงาน
  - มองโลกในแง่ดี ให้อภัย และยอมรับในข้อบกพร่องของคนอื่น
  -
เมื่อมีปัญหาไม่สบายใจ ควรหาทางผ่อนคลาย
  ๑๐. มีสำนึกต่อส่วนรวมร่วมสร้างสรรค์สังคม
  - มีการกำจัดขยะในบ้าน และทิ้งขยะในที่รองรับ
  - หลีกเลี่ยงการใช้วัสดุอุปกรณ์ที่ก่อให้เกิดมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อม เช่น โฟม พลาสติก สเปรย์ เป็นต้น
  - มีและใช้ส้วมที่ถูกสุขลักษณะ
  - มีการกำจัดน้ำทิ้งในครัวเรือนและโรงเรียนด้วยวิธีที่ถูกต้อง
  - ใช้ทรัพยากรอย่างประหยัด
  -
อนุรักษ์และพัฒนาสิ่งแวดล้อม เช่น ชุมชน ป่า น้ำ และสัตว์ป่า เป็นต้น