วันพุธที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2555

นิยามคำว่าสุขภาพและสุขบัญญัติ 10 ประการ

สุขภาพ




  สุขภาพ มีความหมาย 3 ประการ คือ 1. ความปลอดภัย (Safe)
                                                            2. ความไม่มีโรค (Sound)
                                                            3. ความปลอดภัย และไม่มีโรค (Whole)
            องค์กรอนามัยโลกได้ให้คำนิยามคำว่า สุขภาพ ในความหมายกว้างขึ้นว่า สุขภาพ หมายถึง สุขภาวะที่สมบูรณ์ทั้งทางกาย ทางจิต และทางสังคม            ตามร่างพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ 2545 ให้ความหมายของคำว่า สุขภาพ คือ ภาวะที่มีความพร้อมสมบูรณ์ทั้งทางร่างกาย คือ ร่างกายที่สมบูรณ์แข็งแรง คล่องแคล่ว มีกำลัง ไม่เป็นโรค ไม่พิการ ไม่มีอุบัติเหตุอันตราย มีสิ่งแวดล้อมที่ส่งเสริมสุขภาพ

            ดังนั้น "สุขภาพ" จึงหมายถึง "การมีร่างกายแข็งแรงปราศจากโรคภัยไข้เจ็บในทุกส่วนของร่างกาย มีสุขภาพจิตดี และสามารถปรับตัวให้อยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมได้อย่างปกติสุข ผู้มีสุขภาพดีถือว่าเป็นกำไรของชีวิต เพราะทำให้ผู้เป็นเจ้าของชีวิตดำรงชีวิตอยู่อย่างเป็นสุขได้" นั่นเอง จะเห็นได้ว่า สุขภาพนั้น ไม่ได้มีเพียงทางกาย และทางจิตใจเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการปรับตัวเข้าสู่สังคมได้อย่างมีความสุขด้วย เมื่อรู้อย่างนี้แล้ว เราก็ควรจะรักษาสุขภาพของเราให้ดีอยู่เสมอ เพื่อที่เราจะได้มีจิตใจที่มีความสุข รื่นเริง ไม่ติดขัด มีเมตตา มีสติ มีสมาธิ และการที่ครอบครัวจะมีความอบอุ่น ชุมชนเข้มแข็ง และสังคมมีความยุติธรรมได้นั้น จะต้องเกิดขึ้นจากการจัดการทางสุขภาพในระดับต่างๆทั้งสุขภาพในระดับของปัจเจกบุคคล (Individual Health) สุขภาพของครอบครัว (Family Health) อนามัยชุมชน (Community Health) และสุขภาพของสาธารณะ (Public Health) นั่นเอง          
           สุขภาพ เป็นการเรียกการกล่าวถึงลักษณะของการไม่เป็นโรค สุขภาพเป็นความสมบูรณ์ของคนใน 4 มิติ คือ ร่างกาย จิตใจ สังคม และวิญญาณ(ปัญญา)หากสมบูรณ์อย่างสมดุลแล้ว ก็จะเข้าสู่ที่เรียกว่าสุขภาวะ
        สำหรับองค์การอนามัยโลก (WHO : World Health Organization) ได้ให้ความหมายของ สุขภาพไว้ในธรรมนูญขององค์การอนามัยโลกเมื่อปี ค.ศ.1948 ไว้ดังนี้ สุขภาพหมายถึง สภาวะแห่งความสมบูรณ์ของร่างกายและจิตใจ รวมถึงการดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างเป็นปกติสุข และมิได้หมายความเฉพาะเพียงแต่การปราศจากโรคและทุพพลภาพเท่านั้นต่อมาในที่ประชุมสมัชชาองค์การอนามัยโลก เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2541 ได้มีมติให้เพิ่มคำว่า “Spiritual well-being” หรือสุขภาวะทางจิตวิญญาณเข้าไป ในคำจำกัดความของสุขภาพเพิ่มเติม
        ในอดีตคำว่า สุขภาพ หมายถึง สุขภาพกายเป็นหลัก ต่อมาจึงได้กล่าวถึงสุขภาพจิตร่วมไปด้วย เพราะเห็นว่าคนที่มีสุขภาพกายสมบูรณ์แข็งแรง แต่สุขภาพจิตเสื่อมโทรมหรือเป็นโรคจิตก็ไม่สามารถดำเนินชีวิตเป็นปกติสุขได้ ซ้ำร้ายอาจจะทำร้ายผู้อื่นได้อีกด้วย
        ปัจจุบัน คำว่า สุขภาพ มิได้หมายเฉพาะสุขภาพกายและสุขภาพจิตเท่านั้น แต่ยังหมายรวมถึงสุขภาพสังคม และสุขภาพศีลธรรมอีกด้วย
        สรุปว่าในความหมายของ "สุขภาพ" ในปัจจุบันมีองค์ประกอบ 4 ส่วน ด้วยกันคือ
        1. สุขภาพกาย หมายถึง สภาพที่ดีของร่างกาย กล่าวคือ อวัยวะต่างๆอยู่ในสภาพที่ดีมีความแข็งแรงสมบูรณ์ ทำงานได้ตามปกติ และมีความสัมพันธ์กับทุกส่วนเป็นอย่างดี และก่อให้เกิดประสิทธิภาพที่ดีในการทำงาน
        2. สุขภาพจิต หมายถึง สภาพของจิตใจที่สามารถควบคุมอารมณ์ได้ มีจิตใจเบิกบานแจ่มใส มิให้เกิดความคับข้องใจหรือขัดแย้งในจิตใจ สามารถปรับตัวเข้ากับสังคมและสิ่งแวดล้อมได้อย่างมีความสุข
        3. สุขภาพสังคม หมายถึง สภาวะที่ดีของปัญญาที่มีความรู้ทั่ว รู้เท่าทันและความเข้าใจอย่างแยกได้ในเหตุผลแห่งความดีความชั่ว ความมีประโยชน์และความมีโทษ ซึ่งนำไปสู่ความมีจิตอันดีงามและเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่
        4. สุขภาพศีลธรรมหมายถึง บุคคลที่มีสภาวะทางกายและจิตใจที่สุขสมบูรณ์ สามารถปฏิสัมพันธ์และปรับตัวให้อยู่ในสังคมได้เป็นอย่างดีและมีความสุข
        องค์ความรู้ด้านสุขภาพกายและสุขภาพจิตมีสั่งสมไว้มากพอสมควร และเรามีระบบบริการสุขภาพที่ทำงานได้ผลดีทีเดียว แต่เราขาดการศึกษาสุขภาพสังคมและสุขภาพศีลธรรมอย่างเป็นระบบและเชื่อมโยงหากทำได้เราจะจัดการกับสุขภาพสังคมและสุขภาพศีลธรรมได้ดีกว่านี้
        ที่จริงทางตะวันออกและโดยเฉพาะในบริบทของวัฒนธรรมไทย ก็มีเนื้อหาความรู้และข้อปฏิบัติไว้มากมาย เพียงแต่ "นักวิชาการสุขภาพ" ยังมิได้จัดเป็นระบบและเชื่อมโดยจริงจัง
        ตัวอย่างเช่น ในเรื่องสุขภาพสังคม หากเรานำเอาวิถีชีวิต มารยาท ขนบธรรมเนียมประเพณี และวัฒนธรรมไทย มาพูดจากันอย่างจริงจัง และนำเข้าไปอยู่ในระบบอบรมเลี้ยงดู และระบบการศึกษา รวมทั้งระบบบริการสุขภาพด้วยก็จะเกิดประโยชน์ หรือในเรื่องสุขภาพศีลธรรม เราก็มีศาสนธรรมพร้อมสรรพ ไม่ว่าจะเป็นศาสนาพุทธคริสต์ อิสลาม ฮินดู-พราหมณ์ หรือสิกข์ หรือปรัชญาขงจื้อที่คนไทยเชื้อสายจีนยึดถือเป็นแนวทางชีวิตล้วนแต่มีคุณค่ามหาศาลที่เราควรนำไปสั่งสอนลูกหลานหรือลูกศิษย์และเป็นองค์ประกอบสำคัญของการศึกษาและการสาธารณสุขของประเทศ

สุขบัญญัติ 10 ประการ

    สุขบัญญัติ หมายถึง ข้อกำหนดที่เด็กและเยาวชน ตลอดจนประชาชนทั่วไปพึงปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอจนเป็นสุขนิสัย เพื่อให้มีสุขภาพดีทั้งร่างกาย จิตใจ และสังคม ดังนั้น การส่งเสริมสุขบัญญัติจึงเป็นกลวิธีหนึ่งในการสร้าง  เสริมและปลูกฝังพฤติกรรมสุขภาพที่พึงประสงค์ เพื่อให้เด็ก เยาวชน และประชาชนปฏิบัติเพื่อนำไปสู่การมีสุขภาพที่ดีได้   
๑. ดูแลรักษาร่างกายและของใช้ให้สะอาด
  - อาบน้ำให้สะอาดทุกวัน อย่างน้อยวันละ ๑ ครั้ง
  - สระผมอย่างน้อยสัปดาห์ละ ๒ ครั้ง
  - ตัดเล็บมือเล็บเท้าให้สั้นอยู่เสมอ
  - ถ่ายอุจจาระให้เป็นเวลาทุกวัน
  - ใส่เสื้อผ้าที่สะอาด ไม่อับชื้น และให้อบอุ่นเพียงพอ
  - จัดเก็บของใช้ให้เป็นระเบียบ
 ๒. รักษาฟันให้แข็งแรง และแปรงฟันทุกวันอย่างถูกวิธี
  - แปรงฟันทุกวันอย่างถูกวิธี อย่างน้อยวันละ ๒ ครั้ง เวลาเช้า และก่อนนอน
  - เลือกใช้ยาสีฟันและฟลูออไรด์
  - หลีกเลี่ยงการกินลูกอม ลูกกวาด ท็อฟฟี่ หรือขนมหวานเหนียว
  - ตรวจสุขภาพในช่องปาก อย่างน้อยปีละ ๑ ครั้ง
  - ห้ามใช้ฟันกัดขบของแข็ง
๓. ล้างมือให้สะอาดก่อนรับประทานอาหารและหลังการขับถ่าย
  - ล้างมือด้วยสบู่ทุกครั้งก่อนและหลังการเตรียม ปรุง และรับประทานอาหาร
  -
ล้างมือด้วยสบู่ทุกครั้งหลังการขับถ่าย
๔. กินอาหารสุก สะอาด ปราศจากสารอันตราย และหลีกเลี่ยงอาหารรสจัด สีฉูดฉาด
  - เลือกซื้ออาหารสด สะอาด ปลอดสารพิษ โดยคำนึงถึงหลัก ๓ ป คือ ประโยชน์ ปลอดภัย ประหยัด
  - ปรุงอาหารที่ถูกสุขลักษณะ และใช้เครื่องปรุงรสที่ถูกต้อง โดยคำนึงถึงหลัก ๓ ส คือ สงวนคุณค่า สุกเสมอ สะอาดปลอดภัย
  - กินอาหารให้ครบ ๕ หมู่ เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย และกินให้ถูกหลักโภชนาการทุกวัน
  - กินอาหารปรุงสุกใหม่ และใช้ช้อนกลางในการกินอาหารร่วมกัน
  - หลีกเลี่ยงการกินอาหารสุกๆ ดิบๆ หรืออาหารรสจัด ของหมักดอง หรือ อาหารใส่สีฉูดฉาด
  -
ดื่มน้ำสะอาด อย่างน้อยวันละ ๘ แก้ว
๕. งดสูบบุหรี่ สุรา สารเสพย์ติด การพนัน และการสำส่อนทางเพศ
  - งดสูบบุหรี่
  - งดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ทุกชนิด
  - ไม่เสพสารเสพย์ติดทุกประเภท
  - งดเล่นการพนันทุกชนิด
  -
งดการสำส่อนทางเพศ
๖. สร้างความสัมพันธ์ในครอบครัวให้อบอุ่น
  - ทุกคนในครอบครัว ช่วยกันทำงานบ้าน
  - ปรึกษาหารือ และแสดงความคิดเห็นร่วมกัน
  - เผื่อแผ่น้ำใจให้กันและกัน
  - ทำบุญ และได้ทำกิจกรรมสนุกสนานร่วมกัน
๗. ป้องกันอุบัติภัยด้วยการไม่ประมาท
  - ระมัดระวังในการป้องกันอุบัติภัยภายในบ้าน เช่น ไฟฟ้า เตาแก๊ส ของมีคม จุดธูปเทียนบูชาพระ และไม้ขีดไฟ เป็นต้น
  -
ระมัดระวังในการป้องกันอุบัติภัยในที่สาธารณะ เช่น ปฏิบัติตามกฏแห่งความปลอดภัยจากการจราจรทางบก ทางน้ำ ป้องกันอันตรายจากโรงฝึกงาน ห้องปฏิบัติการ เขตก่อสร้าง หลีกเลี่ยงการชุมนุมห้อมล้อม ในขณะเกิดอุบัติภัย
๘. ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และตรวจสุขภาพประจำปี
  - ออกกำลังกายอย่างน้อยสัปดาห์ละ ๓ ครั้ง
  - ออกกำลังกายและเล่นกีฬาให้เหมาะสมกับสภาพร่างกายและวัย
  -
ตรวจสุขภาพประจำปี
๙. ทำจิตใจให้ร่าเริงแจ่มใสอยู่เสมอ
  - พักผ่อนและนอนหลับให้เพียงพอ
  - จัดสิ่งแวดล้อมทั้งในบ้าน และที่ทำงานให้น่าอยู่ หรือน่าทำงาน
  - มองโลกในแง่ดี ให้อภัย และยอมรับในข้อบกพร่องของคนอื่น
  -
เมื่อมีปัญหาไม่สบายใจ ควรหาทางผ่อนคลาย
  ๑๐. มีสำนึกต่อส่วนรวมร่วมสร้างสรรค์สังคม
  - มีการกำจัดขยะในบ้าน และทิ้งขยะในที่รองรับ
  - หลีกเลี่ยงการใช้วัสดุอุปกรณ์ที่ก่อให้เกิดมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อม เช่น โฟม พลาสติก สเปรย์ เป็นต้น
  - มีและใช้ส้วมที่ถูกสุขลักษณะ
  - มีการกำจัดน้ำทิ้งในครัวเรือนและโรงเรียนด้วยวิธีที่ถูกต้อง
  - ใช้ทรัพยากรอย่างประหยัด
  -
อนุรักษ์และพัฒนาสิ่งแวดล้อม เช่น ชุมชน ป่า น้ำ และสัตว์ป่า เป็นต้น


วันจันทร์ที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

สาระน่ารู้เกี่ยวกับกีฬาลีลาศ

ประวัติกีฬาลีลาศ



 

ประวัติการลีลาศของประเทศไทย
        ไม่มีหลักฐานยืนยันได้แน่ชัดว่าการลีลาศในประเทศไทยเกิดขึ้นในสมัยใด สันนิษฐานว่าชาวต่างชาติได้นำมาเผยแพร่ในรัชสมัยของพรบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จุลศักราช 1226 จากบันทึกของแหม่มแอนนาทำให้มีหลักฐานเชื่อได้ว่า คนไทยลีลาศเป็นมาตั้งแต่สมัยพระองค์ และ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงรบการยกย่องให้เป็นนักลีลาศคนแรกของไทย ตาม บันทึกกล่าวว่า แหม่มแอนนาพยายามสอนพระองค์ท่านให้รู้จักวิธีการเต้นรำแบบสุภาพซึ่งเป็นที่ นิยมของชาวตะวันตก โดยบอกว่าจังหวะวอลซ์นั้นหรูมาก นิยมเต้นกันในวังของประเทศในแถบยุโรป พร้อมกับแสดงท่าทางการเต้น พระองค์ท่านกลับสอนว่าใกล้เกินไป แขนต้องวางให้ถูก แล้วพระองค์ท่านก็เต้นทำให้แหม่มแอนนาประหลาดใจ จึงไม่สามารถรู้ได้ว่าใครเป็นผู้สอนพระองค์ จึงได้ได้สันนิษฐานกันว่า พระองค์ท่านคงจะศึกษาจากตำราด้วยพระองค์เอง การเต้นรำ
      ในสมัยรัชกาลที่ 5 ส่วนใหญ่มีแต่เจ้านายและขุนนาชั้นผู้ใหญ่ที่เต้นรำกันพอเป็น
โดยเฉพาะเจ้านายที่ว่าการต่างประเทศได้มีการเชิญฑูตานุฑูต และแขกชาวต่างประเทศมาชุมนุมเต้น รำกันที่บ้าน เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติในการเฉลิมพระชนมพรรษาหรือเนื่องในวันบรมราชาภิเษก เป็นต้น จนกระทั่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานวังสราญรมย์ ให้เป็นศาลาว่าการกระทรวงการต่างประเทศ งานเต้นรำที่เคยจัดกันมาทุกปีก็ได้ย้ายมาจัดกันที่วังสราญรมย์
      ในสมัยรัชกาลที่ 6 ทุกปีที่มีงามเฉลิมพระชนมพรรษานิยมจัดให้มีการเต้นรำขึ้นในพระบรมมหาราชวัง โดยมีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นประธาน ซึ่งมีเจ้านายและบรรดาฑูตานุฑูตทั้งหลายเข้าเฝ้า ส่วนแขกที่จะเข้าร่วมงานได้ต้องได้รับบัตรเชิญเท่านั้น จึงสามารถเข้าร่วมงานได้
      ในสมัยรัชกาลที่ 7 การลีลาศได้รับความนิยมมากขึ้น จึงมีสถานที่ลีลาศเกิดขึ้นหลายแห่งเช่น ห้อยเทียนเหลา เก้าชั้น คาเธ่ย์ และ โลลิต้า เป็นต้น
      ในปี พ.ศ.2475 นายหยิบ ณ นคร ได้ร่วมกับหม่อมเจ้าวรรณไวทยากร วราวรรณ จัดตั้งสมาคมเกี่ยวกับการเต้นรำขึ้น แต่ไม่ได้จดทะเบียนให้เป็นที่ถูกต้องแต่ประการใด โดยใช้ชื่อว่าสมาคมสมัครเล่นเต้นรำ มีหม่อมเจ้าวรรณไวทยากร วรวรรณ เป็นนายกสมาคม นายหยิบ ณ นคร เป็นเลขาธิการสมาคม สำหรับกรรมการสมาคมส่วนใหญ่ก็เป็นขุนนางชั้นผู้ใหญ่ ได้แก่ หลวงเฉลิม สุนทรกาญจน์ พระยาปกิตกลสาร พระยาวิชิต หลวงสุขุมนัยประดิษฐ์ หลวงชาติตระการโกศล และ นายแพทย์เติม บุนนาค สมาชิกของสมาคมส่วนมากเป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ที่มักพาลูกของตนมาเต้นรำด้วย ทำให้มีสมาชิกเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว มีการจัดงานเต้นรำชึ้นบ่อยๆ ที่สมาคมคณะราษฎร์และวังสราญรมย์ สำหรับวังสราญรมย์นี้เป็นสถานที่ที่จัดให้มีการแข่งขันเต้นรำขึ้นเป็นครั้งแรก ซึ่งผู้ชนะเลิศเป็นแชมเปียนคู่แรกคือ พลเรือตรีเฉียบ แสงชูโต และประนอม สุขุม
      ในช่วงปี พ.ศ.2475-2476 มีนักศึกษากลุ่มหนึ่งเรียกสมาคมสมัครเล่นเต้นรำว่าสมาคม... (คำผวนของคำว่าเต้นรำ) ซึ่งฟังแล้วไม่ไพเราะหู ดังนั้นหม่อมเจ้าวรรณไวทยากร วรวรรณ จึงบัญญัติศัพท์คำว่า ลีลาศ ขึ้นแทนคำว่า เต้นรำ ต่อมาสมาคมสมัครเล่นเต้นรำก็สลายตัวไป แต่ยังคงมีการชุมนุมกันของครูลีลาศอยู่เสมอ โดยมีนายหยิบ ณ นคร เป็นผู้ประสานงาน
       การลีลาศได้ซบเซาลงในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 จนกระทั่งสงครามสงบลงในเดือนกันยายน พ.ศ. 2488 วงการลีลาศของไทยเริ่มฟื้นตัวขึ้นใหม่ มีโรงเรียนสอนลีลาศเกิดขึ้นหลายแห่งโดยเฉพาะสาขาบอลรูมสมัยใหม่ ( Modern Ballroom Branch ) ซึ่งอาจารย์ยอด บุรี ได้ไปศึกษามาจากประเทศอังกฤษและเป็นผู้นำมาเผยแพร่ ช่วยทำให้การลีลาศซึ่งศาสตราจารย์ศุภชัย วานิชวัฒนาเป็นผู้นำอยู่ก่อนแล้วเจริญขึ้นเป็นลำดับ
     ในปี พ.ศ.2491 มีบุคคลชั้นนำในการลีลาศซึ่งเคยเป็นผู้ชนะเลิศการแข่งขันลีลาศสมัย
สงครามโลกครั้งที่ 2 อาทิ อุไร โทณวณิก กวี กรโกวิท จำลอง มาณยมณฑล ปัตตานะ เหมะสุจิ และ นายแพทย์ประสบ วรมิศร์ ได้ร่วมกันก่อตั้งสมาคมลีลาศแห่งประเทศไทยขึ้น โดยสภาวัฒนธรรมแห่งชาติ อนุญาตให้จัดตั้งได้เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ.2491 มีหลวงประกอบนิติสาร เป็นนายกสมาคมคนแรก ปัจจุบันสมาคมลีลาศแห่งประเทศไทยเป็นสมาชิกของสภาการลีลาศนานาชาติด้วยประเทศหนึ่ง
      หลังจากนั้นการลีลาศในประเทศไทยก็เป็นที่นิยมอย่างแพร่หลาย มีสถานลีลาศเปิดเพิ่มมากขึ้น มีการจัดแข่งขันลีลาศมากขึ้น ประชาชนสนใจเรียนลีลาศกันมากขึ้น มีการจัดตั้งสมาคมครูลีลาศ ขึ้นสำหรับเปิดสอนลีลาศ และยังได้จัดส่งนักลีลาศไปแข่งขันในต่างประเทศและจัดแข่งขันลีลาศนานาชาติขึ้นในประเทศไทย ในสมัยรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นนายกรัฐมนตรี ได้กำหนดให้โรงเรียนสอนลีลาศต่างๆ อยู่ในสังกัดของกระทรวงศึกษาธิการ และมีการกำหนดหลักสูตรลีลาศขึ้นอย่างเป็นแบบแผนทำให้การลีลาศมรมาตรฐานยิ่งขึ้น ส่งผลให้การลีลาศในประเทศไทยเป็นที่ยอมรับและนิยมในวงการทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค นักเรียน นิสิต นักศึกษาและประชาชนให้ความสนใจ ทำให้มีโรงเรียนหรือสถาบันเปิดสอนลีลาศขึ้นเกือบทุกจังหวัด สำหรับในสถานศึกษาก็ได้มีการจัดวิชาลีลาศเข้าไว้ในหลักสูตรตั้งแต่ระดับมัธยมศึกษาจนถึงระดับอุดมศึกษาปัจจุบันลีลาศได้รับการรับรองให้เป็นกีฬาจากคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (International Olympic Committee = IOC ) อย่างเป็นทางการมรการประชุมครั้งที่ 106 วันที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2540 ณ เมืองโลซาน ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ สำหรับในประเทศไทยคณะกรรมการการกีฬาแห่งประเทศไทย ในสมัยที่มีนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานคณะกรรมการ ได้มีมติรับรองลีลาศเป็นการกีฬาอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2541 จัดเป็นกีฬาลำดับที่ 45 ของการกีฬาแห่งประเทศไทย และยังได้จัดให้มีการแข่งขันกีฬาลีลาศ ( สาธิต )ขึ้นเป็นครั้งแรกในการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 13 ซึ่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ ณ กรุงเทพมหานคร ระหว่างวันที่ 6-20 ธันวาคม พ.ศ.2541

ประวัติกีฬาลีลาศในต่างประเทศ
การเต้นรำถือเป็นศิลปะอย่างหนึ่งของการแสดงออกของบุคคล   ศิลปะการเต้นรำในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ได้ถูกค้นพบจากภาพวาดบนผนังถ้ำในแอฟริกาและยุโรปตอนใต้ ซึ่งศิลปะในการเต้นรำได้ถูกวาดมาไม่น้อยกว่า 20,000 ปี  พิธีกรรมทางศาสนาจะรวมการเต้นรำ การดนตรี และการแสดงละคร ซึ่งเป็นสิ่งในชีวิตความเป็นอยู่ของมนุษย์ในสมัยก่อนประวัติศาสตร์มาก  พิธีกรรมเหล่านี้อาจเป็นการบวงสรวงเทพเจ้าเทพธิดา หรือจากการล่าสัตว์มาได้ หรือการออกสงคราม นอกจากนี้อาจมีการเฉลิมฉลองการเต้นรำด้วยเหตุอื่นๆ เช่น ฉลองการเกิด การหายจากเจ็บป่วย หรือการไว้ทุกข์
การเต้นรำของพวกที่นับถือสิ่งศักดิ์สิทธิ์และพวกที่ไม่มีศาสนาในสมัยโบราณนั้น โดยเฉพาะในเขตทะเลเมดิเตอร์เรเนียนและตะวันออกกลาง มีภาพวาด รูปปั้นแกะสลักและบทประพันธ์ของชาวอียิปต์โบราณ แสดงให้เห็นว่า การเต้นรำได้ถูกจัดขึ้นในพิธีศพ ขบวนแห่ และพิธีกรรมทางศาสนา ชาวอียิปต์โบราณส่วนใหญ่เป็นเกษตรกร ทุกๆ ปีแม่น้ำไนล์จะหลากเมื่อน้ำลดจะทำการเพาะปลูก และมีการเต้นรำหรือแสดงละคร เพื่อขอบคุณเทพเจ้าโอซิริส (God Osiris) ซึ่งเป็นเทพเจ้าแห่งการเกษตร นอกจากนี้การเต้นรำยังนำมาใช้ในงานส่วนตัวเพื่อความสนุกสนาน เช่น การเต้นรำของพวกข้าทาส ซึ่งจัดขึ้นเพื่อความสนุกสนานและต้อนรับแขกที่มาเยือน
กรีกโบราณเห็นว่า การเต้นรำเป็นสิ่งจำเป็นในการศึกษา การบวงสรวงเทพเจ้า เทพธิดา และการแสดงละคร ปรัชญาเมธีพลาโต ให้ความเห็นว่า “พลเมืองกรีกที่ดี ต้องเรียนรู้การเต้นรำเพื่อพัฒนาการบังคับร่างกายตนเอง ทักษะในการต่อสู้” ดังนั้นการเต้นรำด้วยอาวุธ จึงถูกนำมาใช้ในการศึกษาทางทหารของเด็กทั้งในรัฐเอเธนส์และสปาร์ต้า นอกจากนี้ยังถูกนำมาใช้ในการแต่งงาน ฤดูการเก็บเกี่ยวพืชผล และในโอกาสอื่นๆ
การเต้นรำทางศาสนา เป็นส่วนสำคัญในการกำเนิดการละครของกรีก ระหว่าง 500 ปี ก่อน ค.ศ. การละครของกรีกเรียกว่า “Tragidies” ซึ่งพัฒนามาจากเพลงสวดในโบสถ์ และการเต้นรำเพื่อสรรเสริญเทพเจ้าดิโอนิซุส (God Dionysus) ซึ่งเป็นเทพเจ้าแห่งเหล้าองุ่น การเต้นรำแบบ Emmeieia เป็นการเต้นรำที่สง่าภูมิฐาน ได้ถูกนำมาใช้ในละคร Tragedies โดยครูสอนเต้นรำจะต้องบอกเรื่องราวและชี้แนะท่าทางที่ต้องแสดงเพื่อให้จดจำได้ การแสดงตลกขบขันสั้นๆ ของกรีกเรียกว่า “Satyrs” ก็จัดอยู่ในการเต้นรำของกรีกด้วย
เมื่อโรมันรบชนะกรีก เมื่อ 197 ปี ก่อน ค.ศ. โรมันได้ปรับปรุงวัฒนธรรมการเต้นรำของกรีกให้ดีขึ้น การเต้นรำของโรมันคล้ายกับของกรีกที่เต้นรำเพื่อบวงสรวงเทพเจ้า หญิงชาวโรมันก็จะถูกฝึกให้เต้นรำ แม้แต่ชาวต่างชาติหรือพวกข้าทาสที่อยู่ในโรมันก็จะมีการเต้นรำด้วย ชาวโรมันจะเต้นรำหลังจากการเพาะปลูกหรือกลับจากสงคราม ในยุคนี้มีนักเต้นรำของโรมันที่มีชื่อเสียงมาก คือ ซิซีโร (Cicero: 106-43 B.C.) ซึ่งเป็นผู้คิดและปรับปรุงลักษณะท่าทางการเต้นรำของโรมันให้ดีขึ้น
ระหว่างปี ค.ศ. 300 กาฬโรคซึ่งเรียกว่า “ความตายสีดำ” ระบาดในยุโรป ทำลายชีวิตผู้คนไปมากจนทำให้ผู้คนแทบเป็นบ้าคลั่ง ประชาชนจะร้องเพลงและเต้นรำคล้ายคนวิกลจริตที่หน้าหลุมศพ ซึ่งเขาเรียกว่าการแสดงของเขาจะช่วยขับไล่สิ่งเลวร้ายและขับไล่ความตายให้หนีไปจากชีวิตความเป็นอยู่ของเขา
ในยุคกลางยุโรปยังมีการเฉลิมฉลองการแต่งงาน วันหยุด และประเพณีต่างๆตามโอกาสด้วย “การเต้นรำพื้นเมือง” ผู้ใหญ่และเด็กในชนบทจะจัดรำดาบ และเต้นรำรอบเสาสูงที่ผูกริบบิ้นจากยอดเสา (Maypoles) พวกขุนนางที่ไปพบเห็นก็ได้นำมาพัฒนาปรับปรุงให้ดีขึ้น การเต้นรำแบบวงกลมของบรรดาขุนนางซึ่งเรียกว่า “Carol” เป็นการเต้นรำที่ค่อนข้างช้า ในช่วงปลายยุคกลาง การเต้นรำถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของขบวนแห่ต่างๆหรือในงานเลี้ยงที่มีเกียรติ
ยุคฟึ้นฟูเป็นยุคที่มีความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรม ยุคฟื้นฟูเริ่มในอิตาลี เมื่อปี ค.ศ. 300 ในช่วงปลายสมัยกลางแล้วแผ่ขยายไปในยุโรป ปี ค.ศ. 300 ในอิตาลี ขุนนางที่มั่นคงในเมืองต่างๆ จะจ้างครูเต้นรำอาชีพมาสอนในคฤหาสน์ของตนเรียกการเต้นรำสมัยนั้นว่า Balli หรือ Balletti ซึ่งเป็นภาษาอิตาลี แปลว่า “การเต้นรำ”
ในปี ค.ศ. 1588 พระชาวฝรั่งเศสชื่อโตอิโน อาโบ (Thoinnot Arbeau: ค.ศ. 1519-1589) ได้พิมพ์หนังสือเกี่ยวกับการเต้นรำชื่อ ออเชโซกราฟี (Orchesographin) ในหนังสือได้บรรยายถึงการเต้นรำแบบต่างๆ หลายแบบ เป็นหนังสือที่มีคุณค่ามาก บันทึกถึงการเต้นรำที่นิยมใช้กันในบ้านขุนนางต่างๆ ในยุโรประหว่างศตวรรษที่ 16
พระนางแคทเธอรีน เดอ เมดิซี (Catherine de Medicis) พระราชินีในพระเจ้าเฮนรี่ที่ 2 เดิมเป็นชาวฟลอเรนซ์แห่งอิตาลี พระองค์ได้นำคณะเต้นรำของอิตาลีมาเผยแพร่ในพระราชวังของฝรั่งเศส และเป็นจุดเริ่มต้นของระบำบัลเล่ย์ พระองค์ได้จัดให้มีการแสดงบัลเล่ย์โดยพระองค์ทรงร่วมแสดงด้วย
ในสมัยของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศส ได้ปรับปรุงและพัฒนาการบัลเล่ย์ใหม่ได้ตั้ง โรงเรียนบัลเล่ย์ขึ้นแห่งแรก ชื่อ Academic Royale de Dance จนทำให้ประเทศฝรั่งเศสเป็นศูนย์กลางวัฒนธรรมของยุโรป พระองค์คลุกคลีกับวงการบัลเล่ย์มาไม่น้อยกว่า 200 ปี โดยพระองค์ทรงร่วมแสดงด้วย บทบาทที่พระองค์ทรงโปรดมากที่สุดคือ บทเทพอพอลโลของกรีก จนพระองค์ได้รับสมญานามว่า “พระราชาแห่งดวงอาทิตย์” การบัลเล่ย์ในสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 นี้ค่อนข้างจะสมบูรณ์มาก
การเต้นระบำบัลเล่ย์ในพระราชวังนี้เป็นพื้นฐานของการลีลาศ การเต้นรำในปี ค.ศ. 1700 ซึ่งเป็นที่นิยมมากที่สุด ได้แก่ Gavotte, Allemande และMinuet รูปแบบการเต้นจะประกอบด้วยการก้าวเดินหรือวิ่ง การร่อนถลา การขึ้นลงของลำตัว การโค้ง และถอนสายบัว ภายหลังได้แพร่ไปสู่ยุโรปและอเมริกา เป็นที่ชื่นชอบของ ยอร์ช วอชิงตัน ประธานาธิบดีคนแรกของอเมริกามาก   การเต้นรำในอังกฤษซึ่งเป็นการเต้นรำพื้นเมืองและนิยมกันมากในยุโรป เรียกว่า Country Dance ภายหลังได้แพร่ไปสู่อาณานิคมตอนใต้ของอเมริกา
ยุคโรแมนติกเป็นยุคที่มีการปฏิรูปเรื่องบัลเล่ย์ในสมัยนี้นักเต้นรำมีความเป็นอิสระเสรีในการเคลื่อนไหวและการแสดงออกของบุคคล สมัยก่อนการแสดงบัลเล่ย์มักจะแสดงเรื่องที่เกี่ยวกับเทพเจ้า เทพธิดา แต่สมัยนี้มุ่งแสดงเกี่ยวกับชีวิตคนธรรมดาสามัญ เป็นเรื่องง่ายๆและจินตนาการ
ในสมัยที่มีการปฏิวัติในฝรั่งเศส (ค.ศ. 1789) ได้มีการกวาดล้างพวกกษัตริย์และพวกขุนนางไป เกิดความรู้สึกอย่างใหม่คือ ความมีอิสระเสรีเท่าเทียมกัน เกิดการเต้นวอลซ์ ซึ่งรับมาจากกรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย ซึ่งเชื่อกันว่ามีรากฐานมาจากการเต้น Landler การเต้นวอลทซ์ได้แพร่หลายไปสู่ประเทศที่เจริญแล้วในยุโรปตะวันตก    เนื่องจากการเต้นวอลซ์อนุญาตให้ชายจับมือและเอวของคู่    เต้นรำได้   จึงถูกคณะพระคริสประณามว่าไม่เหมาะสมและไม่สุภาพเรียบร้อย
ในช่วงปี ค.ศ. 1800-1900 การเต้นรำใหม่ๆที่เป็นที่นิยมกันมากในยุโรปและอเมริกา จะเริ่มต้นจากคนธรรมดาสามัญโดยการเต้นรำพื้นเมือง พวกขุนนางเห็นเข้าก็นำไปประยุกต์ให้เหมาะสมกับราชสำนัก เช่น การเต้น โพลก้า วอลซ์ ซึ่งกลายเป็นที่นิยมมากของคนชั้นกลางและชั้นสูง
ในอเมริการูปแบบใหม่ในการเต้นรำที่นิยมมากในหมู่ชนชั้นกรรมาชีพและพวกที่ยากจน คนผิวดำนิยมเต้น Tap-Danced หรือระบำย่ำเท้า โดยรวมเอาการเต้นรำพื้นเมืองในแอฟริกา การเต้นแบบจิ๊ก (jig) ของชาวไอริส และการเต้นรำแบบคล๊อก (Clog) ของชาวอังกฤษเข้าด้วยกัน คนผิวดำมักจะเต้นไปตามถนนหนทาง
ก่อนปี ค.ศ. 1870 การเต้นรำได้ขยายไปสู่เมืองต่างๆในอเมริกา ผู้หญิงที่ชอบร้องเพลงประสานเสียงจะเต้นระบำแคนแคน (Can-Can) โดยใช้การเตะเท้าสูงๆ เพื่อเป็นสิ่งบันเทิงใจแก่พวกโคบาลที่อยู่ตามชายแดนอเมริกา ระบำแคน-แคน มีจุดกำเนิดมาจากฝรั่งเศส
ความหมายของกีฬาลีลาศ

คำว่า “ลีลาศ” หรือ “เต้นรำ” มีความหมายเหมือนกัน พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานปีพุทธศักราช 2525 ได้ให้ความหมายดังนี้
ลีลาศ  เป็นนามแปลว่า  ท่าทางอันงดงาม  การเยื้องกราย  เป็นกิริยาแปลว่า  เยื้องกรายเดิน   นวยนาด
เต้นรำ  เป็นกิริยาแปลว่า  เคลื่อนที่ไปโดยมีระยะก้าวตามกำหนด  ให้เข้ากับจังหวะดนตรี  ซึ่งเรียกว่า  ลีลาศ  โดยปกติเต้นเป็นคู่ชายหญิง
คนไทยนิยมเรียกการลีลาศว่า  “เต้นรำ” มานานแล้ว คำว่าลีลาศตรงกับภาษาอังกฤษว่า
“Ballroom Dancing” หมายถึง การเต้นรำของคู่ชายหญิงตามจังหวะดนตรีที่มีแบบอย่างและลวดลายการเต้นเฉพาะตัว โดยมีระเบียบของการชุมนุม ณ สถานที่อันจัดไว้ในสังคม ใช้ในงานราตรีสโมสรต่าง ๆ และมิใช่การแสดงเพื่อให้คนดู 
นอกจากนี้ยังมีคำอีกคำหนึ่งที่มักจะได้ยินกันอยู่เสมอคือคำว่า  “Social  Dance”  ส่วนใหญ่มักจะนำมาใช้ในความหมายเดียวกันกับคำว่า  Ballroom  Dancing  แต่ในประเทศสหรัฐอเมริกาคำว่า  Social  Dance  หมายถึง  การเต้นรำทุกประเภทที่จัดขึ้น  โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้คนมาอยู่ร่วมกัน  และได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมการเต้นรำเป็นหมู่คณะ  เพื่อให้ได้ความสนุกสานเพลิดเพลิน  จึงกล่าวได้ว่า  Ballroom  Dancing  เป็นส่วนหนึ่งของ  Social  Dance
อาจสรุปได้ว่า  “ลีลาศ” คือ กิจกรรมเข้าจังหวะประเภทหนึ่ง เป็นการเต้นรำที่แสดงออกอย่างมีศิลปะ โดยใช้เสียงเพลงและจังหวะดนตรีเป็นสื่อ เพื่อให้เกิดความสนุกสนามเพลิดเพลิน มีลวดลายการเต้น (Figure) เป็นแบบเฉพาะตัว และมักนำลีลาศมาใช้ในงานสังคมทั่ว ๆ ไป
ประโยชน์ของกีฬาลีลาศ

          จากสภาพความเป็นอยู่ของคนในสังคมปัจจุบัน  ที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วทำให้เกิดปัญหาที่สลับซับซ้อน  ไม่ว่าจะเป็นปัญหาทางด้านเศรษฐกิจ  สังคมและการเมือง  สภาพการณ์เหล่านี้เป็นสาเหตุทำให้ประชาชนประสบกับปัญหาต่าง ๆ ทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ  ซึ่งจิตแพทย์  นักจิตวิทยา  และนักการศึกษาต่างก็พยายามเน้นและชี้นำให้เห็นถึงความจำเป็น  เกี่ยวกับการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์  โดยการเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ที่สามารถผ่อนคลายความเครียด  และเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น  ลีลาศเป็นกิจกรรมหนึ่ง  ซึ่งนอกจากจะช่วยผ่อนคลายความเครียดแล้วยังช่วยพัฒนาทั้งทางด้านร่างกาย  จิตใจ  อารมณ์และสังคมได้เป็นอย่างดี  จึงพอสรุปประโยชน์ของการลีลาศได้  ดังนี้1.  ก่อให้เกิดความซาบซึ้งในจังหวะดนตรี
2.  ก่อให้เกิดความสนุกสนาม  เพลิดเพลิน
3.  เป็นกิจกรรมนันทนาการ  และเป็นการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์
4.  เป็นกิจกรรมสื่อสัมพันธ์ทางสังคม  ผู้ชายและผู้หญิงสามารถเข้าร่วมในกิจกรรมพร้อมกันได้
5.  ช่วยพัฒนาทักษะทางกลไก  (Motor  Skill)

6.  ช่วยส่งเสริมสุขภาพพลานามัย  ทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ  ให้แข็งแรงสมบูรณ์อันจะทำให้มีชีวิตยืนยาวและมีความสุข
7.  ทำให้มีรูปร่างทรวดทรงงดงาม  สมส่วน มีบุคลิกภาพในการเคลื่อนไหวที่ดูแล้วสง่างาม    ยิ่งขึ้น
8.  ช่วยผ่อนคลายความตึงเครียดทางด้านร่างกาย  จิตใจ  อารมณ์และสังคม
9.  ช่วยให้รู้จักการเข้าสังคม  และรู้จักการอยู่ร่วมกันในสังคมได้เป็นอย่างดี
10. ช่วยส่งเสริมให้มีความเชื่อมั่นในตนเอง  กล้าแสดงออกในสิ่งที่ดีงาม
11. ทำให้มีความซาบซึ้งในวัฒนธรรมอันดีงาม  และช่วยจรรโลงให้คงอยู่ตลอดไป
12. เป็นกิจกรรมที่ก่อให้เกิดความคิดริเริ่มสร้างสรรค์
13. เป็นกิจกรรมที่สามารถช่วยแก้ไขข้อบกพร่องทางกาย 


มารยาททางสังคมในการเล่นกีฬาลีลาศ
 4.1 การเตรียมตัว
               1. อาบน้ำชำระร่างกายให้สะอาด กำจัดกลิ่นต่าง ๆ ที่น่ารังเกียจ เช่น กลิ่นปาก กลิ่นตัว เป็นต้น
                2. แต่งกายให้สะอาด ถูกต้อง และเหมาะสมตามกาละเทศะ ซึ่งจะเป็นหารสร้างความมั่นใจในบุคลิกภาพของตนเอง
                3. ควรใช้เครื่องสำอางที่มีกลิ่นไม่รุนแรงจนสร้างความรำคาญให้กับผู้ที่อยู่ใกล้ชิด หรือกับคู่ลีลาศของตน
                4. มีการเตรียมตัวล่วงหน้าโดยการฝึกซ้อมลีลาศในจังหวะต่าง ๆ เพื่อสร้างความมั่นใจในการลีลาศ
                5. สุภาพบุรุษจะต้องให้เกียรติสุภาพสตรีและบุคคลอื่นในทุกสถานการณ์ และจะต้องไปรับสุภาพสตรีที่ตนเชิญไปร่วมงาน
                6. ไปถึงบริเวณงานให้ตรงตามเวลาที่ระบุได้ในบัตรเชิญ
4.2 ก่อนออกลีลาศ
                1. พยายามทำตัวให้เป็นกันเอง และสร้างความสนิทสนมคุ้นเคยกับเพื่อนใหม่ แนะนำเพื่อนหญิงของตนให้บุคคลอื่นรู้จัก (ถ้ามี)
                2. ไม่ดื่มสุรามากจนครองสติไม่อยู่ ถ้ารู้สึกตัวว่าเมามาก ไม่ควรเชิญสุภาพสตรีออกลีลาศ
                3. ไม่ควรเชิญสุภาพสตรีที่ไม่รู้จักออกลีลาศ ยกเว้นจะได้รับการแนะนำให้รู้จักกันเสียก่อน
                4. สุภาพบุรุษควรแน่ใจว่าสุภาพสตรีที่ตนเชิญออกลีลาศ สามารถลีลาศจังหวะนั้นๆ ได้หากไม่แน่ใจควรสอบถามก่อน
                5. สุภาพบุรุษควรเชิญสุภาพสตรีออกลีลาศด้วยกริยาที่สุภาพ ถ้าถูกปฏิเสธก็ไม่ควรเซ้าซี้จนเป็นที่น่ารำคาญ
                6. สุภาพสตรี ไม่ควรปฏิเสธเมื่อมีสุภาพบุรุษมาขอลีลาศด้วย หากจำเป็นจะต้องปฏิเสธด้วยเหตุผลใดก็ตาม จะต้องปฏิเสธด้วยถ้อยคำที่สุภาพนุ่มนวล และไม่ควรลีลาศกับสุภาพบุรุษอื่นในจังหวะที่ตนได้ปฏิเสธไปแล้ว
                7. ถ้าในกลุ่มสุภาพสตรีที่นั่งอยู่มีบุคคลอื่นหรือสุภาพบุรุษอื่นนั่งอยู่ด้วย จะต้องกล่าวคำขออนุญาตจากบุคคลเหล่านั้นก่อนที่จะเชิญสุภาพสตรีออกลีลาศ
                8. ก่อนออกลีลาศควรฟังจังหวะให้ออกเสียก่อน และแน่ใจว่าสามารถลีลาศในจังหวะนั้นได้
                9. ไม่ควรออกลีลาศกับคู่เพศเดียวกัน
 4.3 ขณะลีลาศ
                1. ขณะที่พาสุภาพตรีไปที่ฟลอร์ลีลาศ สุภาพบุรุษควรเดินนำหน้า หรือเดินเคียงคู่กันไป เพื่อให้ความสะดวกแก่สุภาพสตรี และเมื่อไปถึงฟลอร์ลีลาศ ควรให้เกียรติสุภาพสตรีเดินขึ้นไปบนฟลอร์ลีลาศก่อน
                2. ในการจับคู่ สุภาพบุรุษต้องกระทำด้วยความนุ่มนวลสุภาพ และถูกต้องตามแบบแผนของการลีลาศ ไม่ควรจับคู่ในลักษณะที่รัดแน่นหรือยืนห่างจนเกินไป การแสดงออกที่น่าเกลียดบางอย่างพึงละเว้น เช่น การเอารัดเอาเปรียบคู่ลีลาศ เป็นต้น
                3. จะต้องลีลาศไปตามจังหวะ แบบแผน และทิศทางที่ถูกต้องไม่ย้อนแนวลีลาศ เพราะจะเป็นอุปสรรคกีดขวางการลีลาศของคู่อื่น ถ้ามีการชนกันเกิดขึ้นในขณะลีลาศ จะต้องกล่าวคำขอโทษหรือขออภัยด้วยทุกครั้ง
                4. ไม่สูบบุหรี่ เคี้ยวหมากฝรั่ง หรือของขบเคี้ยวใด ๆ ในขณะลีลาศ
                5. ให้ความสนใจกับคู่ลีลาศของตน ความอบอุ่นเกิดขึ้นได้จากการยิ้มแย้มแจ่มใสหรือคำกล่าวชม ไม่แสดงอาการเบื่อหน่ายหรือหันไปสนใจคู่ลีลาศของคนอื่น และอย่าทำตนเป็นผู้กว้างขวางช่างพูดช่างคุยกับคนทั่วไปในขณะลีลาศ
                6. ควรลีลาศด้วยความสนุกสนานร่าเริง
                7. ไม่ควรพูดเรื่องปมด้อยของตนเองหรือของคู่ลีลาศ
                8. ไม่ควรเปลี่ยนคู่บนฟลอร์ลีลาศ
                9. ควรลีลาศในรูปแบบหรือลวดลายที่ง่าย ๆ ก่อน แล้วจึงเพิ่มรูปแบบหรือลวดลายที่ยากขึ้นตามความสามารถของคู่ลีลาศ เพราะจะทำให้คู่ลีลาศรู้สึกเบื่อหน่าย และไม่ควรพลิกแพลงรูปแบบการลีลาศมากเกินไปจนมองดูน่าเกลียด
                10. ถือว่าเป็นการไม่สมควรที่จะร้องเพลงหรือแสดงออกอย่างอื่นในขณะลีลาศ หรือลีลาศด้วยท่าทางแผลง ๆ ด้วยความคึกคะนอง
                11. ไม่ควรสอนลวดลายหรือจังหวะใหม่ ๆ บนฟลอร์ลีลาศ
                12. ไม่ควรลีลาศด้วยลวดลายที่ใช้เนื้อที่มากเกินไป ในขณะที่มีคนอยู่บนฟลอร์เป็นจำนวนมาก
                13. ในการลีลาศแบบสุภาพชน ไม่ควรแสดงความรักในขณะลีลาศ
                14. การนำในการลีลาศเป็นหน้าที่ของสุภาพบุรุษ สุภาพสตรีไม่ควรเป็นฝ่ายนำ ยกเว้นเป็นการช่วยในความผิดพลาดของสุภาพบุรุษ เป็นครั้งคราวเท่านั้น
                15. การให้กำลังใจ การให้เกียรติ และการยกย่องชมเชยด้วยใจจริง จะช่วยให้คู่ลีลาศเกิดความรู้สึกอบอุ่นและเชื่อมั่นในตนเองยิ่งขึ้น คู่ลีลาศที่ดี จะต้องช่วยปกปิดความลับหรือปัญหาที่เกิดขึ้นและมองข้ามจุดอ่อนของคู่ลีลาศ
                16. ไม่ควรผละออกจากคู่ลีลาศโดยกระทันหัน หรือก่อนเพลงจบ
 4.4 เมื่อสิ้นสุดการลีลาศ
                1. สุภาพบุรุษต้องเดินนำหรือเดินเคียงคู่กันลงจากฟลอร์ลีลาศ และนำสุภาพสตรีไปส่งยังที่นั่งให้เรียบร้อย พร้อมทั้งกล่าวคำขอบคุณสุภาพสตรีและสุภาพบุรุษอื่นที่นั่งอยู่ด้วย
                2. เมื่อถึงเวลากลับ ควรกล่าวคำชมเชย และขอบคุณเจ้าภาพ (ถ้ามี)
                3. สุภาพบุรุษจะต้องพาสุภาพสตรีที่ตนเชิญเข้างาน ไปส่งยังที่พัก
 4.5 สรุปมารยาทโดยรวมในการลีลาศ
                1. ควรแต่งกายให้สุภาพเรียบร้อยหรือเหมาะสมกับงานที่จัดขึ้น โดยเฉพาะรองเท้าควรเป็น รองเท้าลีลาศหรือที่เหมาะสมกับการลีลาศ
                2. ควรสำรวมกิริยามารยาท โดยคำนึงถึงขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมอันดีงามไว้เสมอ
                3. ไม่ควรออกลีลาศในขณะที่เสพสุรามากเกินไป หรือมีอาการมึนเมา
                4. การเข้าคู่ลีลาศ หรือ “Holding” ควรกระทำให้ถูกต้อง โดยเฉพาะในงานลีลาศออกสังคมควรคำนึงถึงวัฒนธรรมและประเพณีอันดีงาม
                5. การลีลาศในงานสังคมไม่ควรพาคู่เต้นออกลวดลายเกินความจำเป็น และควรคำนึงถึงความสามารถของคู่เต้นด้วยว่าจะทำตามได้หรือไม่
                6. ควรระมัดระวังการกระทบกระทั่งกัน หากมีเหตุสุดวิสัยควรกล่าวคำขอโทษซึ่งกันและกัน และควรที่จะให้อภัยต่อกัน
                7. ระหว่างงานลีลาศ ควรแสดงออกถึงความสุขสนุกสนานและรื่นเริง และพูดคุยกันในสิ่งที่ดีงามและเป็นมงคล
                8. ในการลีลาศควรเคลื่อนที่ไปในทิศทางที่เหมาะสม ซึ่งมีระบุไว้ในกฎกติกา ของการลีลาศในแต่ละจังหวะ โดยปกติแล้วจะเคลื่อนที่ไปในลักษณะทวนเข็มนาฬิกาตามแนวทางของการลีลาศ
                9. สุภาพบุรุษควรเดินเคียงคู่กับสุภาพสตรีออกไปลีลาศและนำส่งกลับโต๊ะที่นั่งหลังเสร็จสิ้นการลีลาศ
                10. ไม่ควรอย่างยิ่งที่จะนำผู้ที่ยังลีลาศไม่เป็นลงไปสอนกลางฟลอร์ลีลาศ เพราะจะก่อความรำคาญให้คู่ลีลาศอื่นๆ
                11. สุภาพบุรุษกุบสุภาพบุรุษไม่ควรออกไปลีลาศคู่กันเพราะดูไม่สุภาพ
                12. ถ้าจะลีลาศกับผู้ที่มากับคนอื่น ควรจะขออนุญาตกับผู้ที่มาด้วยก่อนเสมอ
                13. ถ้าได้ปฏิเสธการขอลีลาศจากผู้ใดผู้หนึ่งไปแล้ว ไม่ควรจะออกลีลาศกับบุคคลอื่นในทันทีทันใด
                14. หลังเสร็จสิ้นการลีลาศในแต่ละครั้ง ควรกล่าวคำขอบคุณซึ่งกันและกัน โดยเฉพาะลีลาศกับผู้ที่อาวุโสกว่าควรยกมือขึ้นไหว้ขอบคุณ แล้วพากลับเข้านั่งที่
                15. ควรเรียนรู้และศึกษาทักษะการลีลาศในแต่ละจังหวะของการลีลาศให้ถ่องแท้ก่อนการลงลีลาศจริงบนฟลอร์ เพื่อที่จะไม่เป็นที่ขัดความสำราญของผู้อื่น

คลิปวีดีโอ การเต้นลีลาศ